เกาะติดสถานการณ์​ คราบน้ำมันดิบ​ หาดแม่รำพึง​ จ.ระยอง

วัน​ จันทร์​ ที่​ 31​ มกราคม​ 2565

เกาะติดสถานการณ์​น้ำมันดิบรั่ว​ คราบน้ำมันดิบที่พัดขึ้นหาดแม่รำพึง​ จ.ระยอง

เหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลบริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง จากท่อใต้ทะเลของทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล ของบริษัทสตาร์ปิโตรเลี่ยม รีไฟน์นิ่ง จำกัด มหาชน (SPRC) ในช่วงกลางคืนของวันที่ 25 มกราคม 2565 เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่หากควบคุมไม่ได้จะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล และอันตรายต่อร่างกายของประชาชนในพื้นที่

“ประชาชาติธุรกิจ” นำข้อมูลการแสดงอาการของร่างกายมนุษย์ หากได้รับอันตรายจากสารเคมีในน้ำมันดิบ เมื่อเกิดเหตุการณ์รั่วไหลหรือระเหย รวมถึงวิธีการเตรียมรับมือของประชาชน

น้ำมันดิบ คืออะไร มีสารเคมีอะไรบ้าง
กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ระบุว่า น้ำมันดิบ (Crude Oil) มีสถานะตามธรรมชาติเป็นของเหลว ประกอบด้วยสารประกอบไฮโดรคาร์บอนชนิดระเหยง่ายเป็นส่วนใหญ่ แบ่งเป็น 3 ชนิด ตามคุณสมบัติ และชนิดของไฮโดรคาร์บอนที่ประกอบอยู่ คือ

น้ำมันดิบฐานพาราฟิน
น้ำมันดิบฐานแนฟทีน
น้ำมันดิบฐานผสม
น้ำมันดิบทั้ง 3 ชนิด เมื่อนํามากลั่นแล้ว จะให้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในสัดส่วนที่แตกต่างกัน ก๊าซธรรมชาติ เป็นปิโตรเลียมที่อยู่ในสถานะก๊าซที่สภาพแวดล้อมบรรยากาศ

น้ำมันดิบรั่ว กระทบอย่างไร
ข้อมูลจากเฟซบุ๊ก กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า หากน้ำมันดิบมีการรั่วไหล คราบน้ำมันที่ลอยอยู่บนผิวน้ำจะทำปฏิกิริยากับออกซิเจน ทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลงและปิดกั้นการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนพืช สาหร่าย และพืชน้ำต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงสภาวะการย่อยสลายของแบคทีเรียในน้ำ

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดล้วนส่งผลเสียต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น เช่น ปลา สัตว์หน้าดิน ปะการัง รวมถึง นกน้ำด้วย เกิดการสะสมสารพิษในห่วงโซ่อาหารที่เริ่มตั้งแต่ผู้ผลิต (แพลงก์ตอนพืช) ผู้บริโภคขั้นต้น (แพลงก์ตอนสัตว์/ปลา) จนถึงผู้บริโภคขั้นสุดท้ายซึ่งก็คือ มนุษย์

นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ประมงและการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง เช่น สัตว์น้ำตายจากคราบน้ำมัน ขาดออกซิเจน ชายหาดสกปรกจากคราบน้ำมัน ทำลายทัศนียภาพ มีกลิ่นเหม็น ไม่เหมาะกับการท่องเที่ยวและพักผ่อน ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อเศรษฐกิจในชุมชนท้องถิ่นและระดับประเทศ

ผลกระทบเมื่อน้ำมันดิบเข้าสู่ร่างกาย
ศูนย์รักษาพิษสารเคมีอันตรายภาคตะวันออก​ และศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า เมื่อน้ำมันดิบมีการหกกระจาย หรือมีการรั่วไหล จะเกิดการ “ระเหย” ทำให้ประชาชนที่อยู่บริเวณโดยรอบได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกายผ่านทางเดินหายใจ การสัมผัสที่ผิวหนัง หรือการกินอาหารที่ปนเปื้อนน้ำมันเข้าไป

ผู้ที่ได้รับสารเคมีจากน้ำมันดิบ จะส่งผลให้เกิดร่างกายมีอาการ ทั้งระยะเฉียบพลัน ระยะยาว ลามไปจนถึงก่อมะเร็ง โดยแต่มีรายละเอียดการแสดงอาการ ดังนี้

1. อาการระยะเฉียบพลัน

การหายใจ : หากมีการสัมผัสโดยตรง หรือจากไอระเหยของน้ำมันดิบ จะเกิดการระคายระบบหายใจ

ผิวหนัง : หากมีการสัมผัสน้ำมันดิบโดยตรง หรือจากไอระเหยจะเกิดการระคายเคืองตา ผิวหนัง และหากมีการสัมผัสที่ผิวหนังนาน ๆ จะทำให้เกิดผิวหนังบวมแดง และไหม้ได้

กินหรือกลืน : หากมีการกินหรือกลืนน้ำมันดิบเข้าสู่ร่างกาย จะเกิดอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ

ตา : หากมีการสัมผัสน้ำมันดิบโดยตรง หรือจากไอระเหยจะเกิดอาการเคืองตา

นอกจากนั้น อาจจะทำให้มีอาการมึนงง หัวใจเต้นเร็ว ปวดศีรษะ สับสน และมีภาวะซีด ถ้ามีไฟไหม้น้ำมันดิบซึ่งอาจเกิดจากอุบัติเหตุหรือการรั่วหก ก็จะปล่อยสารเคมีที่มีอันตรายต่อสุขภาพได้ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์, คาร์บอนมอนออกไซด์, ตะกั่ว, ไนโตรเจนออกไซด์, เขม่า, Polycyclic Aromatic Hydrocarbons, ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และสารอินทรีย์ระเหยง่าย

การสัมผัสเขม่านั้นจะทำให้เกิดผลข้างเคียงจากส่วนประกอบของเขม่าเอง ซึ่งการสัมผัสน้ำมันที่ไหม้ไฟจะมีอันตรายต่อจมูก ทางเดินหายใจ และปอด ทำให้หายใจลำบากจนถึงเป็นปอดอักเสบจากอนุภาค ไอ มีตาแดง คัน และเสมหะสีดำ

2. อาการระยะยาว

ทางเดินหายใจ : มีรายงานการเป็นโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง เช่น ไอ เจ็บหน้าอก เจ็บคอ หายใจลำบาก และมีการลดลงของสมรรถภาพปอด

ระบบประสาท : มีอาการปวดศีรษะ มึนงง เดินเซ นอนไม่หลับ

ระบบสืบพันธุ์ : พบว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการแท้งในหญิงตั้งครรภ์ โดยเน้นว่า เบนซีน ก๊าซโซลีน และไฮโดรเจน และไฮโดรเจนซัลไฟด์ คือ ตัวต้นเหตุ นอกจากนี้ยังพบการคลอดก่อนกำหนด

3. การก่อมะเร็ง

ในส่วนของอาการที่ทำให้เกิดมะเร็ง ยังไม่มีหลักฐานระบุชัดเจนว่า แต่มีรายงานอื่น ๆ ได้แก่ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งของไต มะเร็งตับอ่อน มะเร็งปอด และมะเร็งผิวหนัง ยกเว้นเบนซีน ซึ่งทำให้เป็นโรคมะเร็งเม็ดโลหิตขาว

น้ำมันดิบรั่ว ประชาชนต้องทำอย่างไร
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า จากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วที่ จ.ระยองในครั้งนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เฝ้าระวังด้านสุขภาพ 3 ข้อ ได้แก่ 1.เฝ้าระวังสิ่งแวดล้อม 2.เฝ้าระวังว่าจะมาสู่ประชาชนอย่างไร และ 3.ต้องเฝ้าระวังสำหรับผู้เข้าไปกู้ภัย เพราะหากป้องกันไม่เหมาะสม ก็อาจเกิดอันตรายได้

นพ.โอภาส มีข้อแนะนำถึงประชาชนว่า ให้ระมัดระวังการรับประทานอาหารทะเล ให้เลือกซื้อจากร้านที่สะอาด และต้องรับประทานแบบปรุงสุกเท่านั้น ส่วนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยังไม่มีอะไรต้องกังวล ยังสามารถรับประทานอาหารทะเลได้ตามปกติ

สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 16 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อ้างอิงข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า แม้จะไม่เกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลครั้งใหญ่ แต่โดยปกติก็สามารถมีคราบน้ำมันในทะเลได้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันไหลหรือรั่วซึมออกมาจากเรือประมง เรือข้ามฟาก สกูตเตอร์ หรือบรรดาเครื่องยนต์ในทะเล แต่จะเป็นการรั่วซึมในปริมาณน้อยจนสังเกตไม่ชัดเจน หรืออาจจะพบเห็นในลักษณะของรุ้งน้ำมันบนผิวทะเล จึงมีคำแนะนำในการไปทะเล ดังนี้

เลือกลงเล่นน้ำทะเลในพื้นที่ที่น้ำทะเลมีสีเขียวใส และสังเกตว่าไม่มีคราบรุ้งน้ำมันอยู่บนผิวน้ำ
หลังจากขึ้นจากเล่นน้ำในทะเลจะต้องล้างตัวด้วยสบู่ให้ร่างกายสะอาดทุกครั้ง
ในการเล่นน้ำทะเลควรระวังไม่ให้น้ำทะเลเข้าจมูกหรือปาก และไม่ควรลืมตาในน้ำทะเลหากไม่มีหน้ากากป้องกัน
หากพบเห็นก้อนสีดำ นุ่ม แต่มีความเหนียวหนืดคล้ายยางมะตอยตามชายหาดหรือโขดหิน อาจเป็นไปได้ว่า คือ ทาร์บอลล์ (Tarball) หลีกเลี่ยงที่จะหยิบจับหรือสัมผัส แต่หากเหยียบโดยบังเอิญ ให้รีบล้างเท้าทำความสะอาดเพื่อป้องกันสารพิษซึมเข้าสู่ร่างกาย
ทั้งนี้ ความรุนแรงของผลกระทบจากน้ำมันรั่วไหลขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งชนิดของน้ำมัน ปริมาณที่รั่วไหล สภาพภูมิศาสตร์ของบริเวณที่เกิดการรั่วไหล กระแสน้ำ กระแสลม การขึ้น-ลงของน้ำทะเล ตลอดจนความหลากหลายและความสมบูรณ์ของทรัพยากรโดยรอบบริเวณนั้น