ซูมอนาคตเมืองระยอง 2030

โครงการ EEC หรือ โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor)

การพัฒนาอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ศูนย์กลางสำคัญของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นิคมอุตสาหกรรม ดับบลิวเอชเอกว่า 9 แห่ง ตั้งอยู่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในจังหวัดระยอง และชลบุรี มีเนื้อที่กว่า 35,074 ไร่ (14,021 เอเคอร์) นักลงทุนในนิคมของเราได้รับผลประโยชน์จากแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกภายใต้นโยบายประเทศไทย 4.0

กลยุทธ์การส่งเสริมการลงทุนใหม่พัฒนาโดยสำนักงานระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

โดย พรบ. ส่งเสริมการลงทุนยังได้รับการปรับปรุงเพื่อเพิ่มหรือยกระดับสิทธิประโยชน์สำหรับนักลงทุนรายใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและมีความสามารถในการผลิตนวัตกรรม และการวิจัย เพื่อให้การลงทุนและการพัฒนาของอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรกของไทยก้าวไปอีกขั้น อุตสาหกรรมห้าประเภทจะได้รับการยกระดับ และอุตสาหกรรมอีกห้าประเภทที่เหลือได้รับการตั้งเป้าเป็นกลไกลใหม่ในการขับเคลื่อนประเทศไทย

ประเทศไทย 4.0 – ประสานความสามารถของเทคโนโลยีการผลิตเข้ากับเทคโนโลยีสารสนเทศ แสดงศักยภาพของประเทศไทยในการปฏิวัติโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ ภูมิปัญญาสร้างสรรค์นวัตกรรม และขีดความสามารถในการแข่งขัน ภายใต้นโยบายที่น่าดึงดูดเพื่อเพิ่มการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ด้วยการบูรณาการเครือข่ายไซเบอร์และการผลิตในโลกแห่งความเป็นจริง การเชื่อมต่อทางเครือข่ายในรูปแบบ Internet of Things (IoT) เป็นประโยชน์อย่างมหาศาลต่อสายการผลิตและกระบวนการต่างๆ ในโรงงาน

ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก นอกจากจะเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการยอมรับในระดับด้านการลงทุนในต่างประเทศแล้ว ก็ยังมีโครงสร้างขั้นพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่เหมาะสมอยู่แล้ว โลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการขนส่งสาธารณะ กำลังอยู่ในขั้นพัฒนาครั้งใหญ่ เพื่อให้เชื่อมโยงกับการตลาดระหว่างประเทศ โดยการใช้รางรถไฟ รถไฟฟ้าความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ การขยายถนนทางหลวง การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังและการขยายสนามบินทั้งสามแห่งใกล้กรุงเทพฯ ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา

ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคมหาชนและภาคเอกชน และสถาบันทางการศึกษาจะทำให้เกิดกลไกที่ดี ครอบคลุมด้านต่างๆ เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร การศึกษาและการสนับสนุนจากภาครัฐ

ปัจจุบันความคืบหน้าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

     โดยพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออกได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ได้มีการประกาศเขตส่งเสริมใน 5 พื้นที่ ประกอบด้วย

  1. เขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เมืองการบินภาคตะวันออก (Special EEC Zone: Eastern Airport City ตั้งอยู่บนพื้นที่ 6,500 ไร่ บริเวณสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์กลางการบิน เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารในอีก 5 ปีข้างหน้า ที่คาดว่าจะมีมากถึง 15 ล้านคน/ปี และจะเพิ่มความสามารถในการรองรับเป็น 35 ล้านคน/ปี ในอีก 10 ปี และ 60 ล้านคน/ปีในอีก 15 ปีข้างหน้า
  2. เขตส่งเสริมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) ตั้งอยู่ในบริเวณวังจันทร์วัลเล่ย์ จ.ระยอง พื้นที่ 3,000 ไร่ และบริเวณอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อ.ศรีราชา   จ.ชลบุรี ครอบคลุมพื้นที่ 120 ไร่ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมและชุมชนด้วยการพัฒนาวิจัยและนวัตกรรม
  3. เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital ParkThailand: EECd) ตั้งอยู่ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี บนพื้นที่ 709 ไร่ เพื่อขยายและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลรองรับการเป็นศูนย์กลางข้อมูล (Data Hub) ของอาเซียน
  4. นิคมอุตสาหกรรม Smart Park อยู่ที่จ.ระยอง ครอบคลุมพื้นที่ 1,466 ไร่  
  5. นิคมอุตสาหกรรมเหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 อยู่ที่ จ.ระยอง ครอบคลุมพื้นที่ 1,900 ไร่

นอกจากนี้ยังได้มีการอนุมัติโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญ ได้แก่ การศึกษาระบบราง (รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก แอร์พอร์ต เรลลิงก์ ส่วนปัจจุบันและส่วนต่อขยาย และรถไฟฟ้าสายสีแดง) เพื่อเชื่อมโยง 3 สนามบิน ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา และมีการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกหลัก 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3  ท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 และท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ ทั้งยังมีการการพัฒนาโครงข่ายรถไฟเชื่อมโยง 3 ท่าเรือ และพัฒนาระบบการจัดการขนส่งแบบบูรณาการทั้งรถไฟและท่าเรือแบบไร้รอยต่อ (Seamless Operation)  ซึ่งเป็นโครงการหลักของ อีอีซี ที่ต้องการยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์การทางเศรษฐกิจระดับโลก

     ทั้งนี้ ยังได้ประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ.2560 (EEC Track) เพื่อให้การลงทุนใน อีอีซี สามารถทำงานได้คล่องตัวขึ้น โดยเริ่มนำร่องใน 6 โครงการสำคัญ ได้แก่

  1. โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (Aerotropolis)
  2. โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา)
  3. โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด (เฟส 3)
  4. โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (เฟส 3)
  5. โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา
  6. เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd)

     ขณะเดียวกัน ได้เห็นชอบกรอบการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) อีก 8 แผนงานย่อย ได้แก่

  1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
  2. การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย
  3. การพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่
  4. การพัฒนาศูนย์กลางการเงิน
  5. การพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยี
  6. การพัฒนาเมืองใหม่ ฉะเชิงเทรา-พัทยา-ระยอง
  7. การประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่
  8. แผนปฏิบัติการการเกษตร ชลประทานและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ อีอีซี

     รวมทั้งยังมีการเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการการพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัยและเทคโนโลยี (พ.ศ.2560 – 2564) และอนุมัติงบประมาณจากงบกลางปี 2561 สำหรับโครงการเร่งด่วนที่มีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการตามแผนปฏิบัติการพัฒนาบุคคลากรฯ ในกรอบวงเงิน 861.02 ล้านบาท

     อย่างไรก็ดี สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้มีการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี แล้ว 160 ราย และสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ได้ชักชวนนักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ อีอีซี แล้ว 40 ราย โดย 11 ราย อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอการลงทุน

การลงนามความร่วมมือกับต่างประเทศ

     เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย และเพิ่มความร่วมมือทางธุรกิจตามนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ที่มุ่งเน้นสนับสนุนการพัฒนาด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจนั้น จึงได้เกิดความร่วมมือกับหลากหลายองค์กรของประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมของไทยกับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI), ความร่วมมือกับเครือข่ายนวัตกรรมชีวการแพทย์แห่งเมืองโกเบ หรือ KOBE Biomedical Innovation Cluster (KBIC), ความร่วมมือกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) และ ความร่วมมือกับบริษัท HITACHI ของประเทศญี่ปุ่น

     ทั้งยังมีการร่วมมือระหว่างธนาคารไอซีบีซี (CIBC) จากประเทศจีนซึ่งร่วมมือกับสมาคมธนาคารไทย การร่วมมือกับองค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (HKTDC) นอกจากนี้ ยังมีการลงนามความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศอย่างองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Industrial Development Organization : UNIDO) ด้วย

     ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ร่างพ.ร.บ.อีอีซี) พ.ศ. … ไปเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2560 และได้เข้าสู่กระบวนการของการนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งที่ประชุมสนช.มีมติรับหลักการร่างดังกล่าวไปตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย.2560 พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 30 คน ซึ่งล่าสุด สนช.ได้พิจารณาผ่านร่างพ.ร.บ.อีอีซีไปเมื่อวันที่ 7 ก.พ.2561


ขอบคุณภาพจาก : thaiindia
ที่มา : ระยองวันนี้